ฯพณฯ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
   โรงพยาบาลสงฆ์เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยและในโลกที่รัฐฯได้จัดสร้างขึ้นเพื่อให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่พระภิกษุ-สามเณรอาพาธทั่วประเทศ เริ่มตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 ในสมัยรัฐบาลของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นที่บริเวณ วัดพระศรีมหาธาตุ แต่หากต้องระงับไปเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ดำริให้มีการรื้อฟื้นเรื่องการสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ โดยได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ เรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาการก่อสร้างโรงพยาบาลสงฆ์” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2492 คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย บรรพชิตและฆราวาสรวมกัน 13 ท่าน ได้ร่วมกันประชุมพิจารณาปรึกษา ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลสงฆ์เป็นลำดับ และได้ตกลงคัดเลือกได้ที่ดิน ณ ตำบลทุ่งพญาไท คือที่ตั้งในปัจจุบันนี้ และเริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อ วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2492 เวลา 09.32 น. อันตรงกับวันวิสาขบูชาโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวง วชิรณาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหารได้ทรงเป็นประธานในพิธีและทรงขนานนามให้ว่า“โรงพยาบาลสงฆ์” พิธีเปิดโรงพยาบาลได้กระทำอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2494 และได้มอบให้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รับไปดำเนินกิจการต่อไปโดยมีนายแพทย์วิรัช มรรคดวงแก้ว เป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ คนแรก และเริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2494 กาลต่อมา สมเด็จพระสังฆราช (กิตติโนภณมหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ซึ่งสมัยนั้นทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต และทรงดำรงตำแหน่งสังฆนายก ได้พิจารณาเห็นว่ากิจการของโรงพยาบาลสงฆ์ ได้เจริญรุ่งเรือง เป็นสถานที่อำนวยประโยชน์สุขแก่พระภิกษุ-สามเณรผู้อาพาธได้จริง แต่การดำเนินงานของนายแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสงฆ์บางประการต้องได้รับความไม่สะดวกบ้างเพราะเป็นงานที่เกี่ยวกับกิจของสงฆ์โดยเฉพาะ ถ้ามีกรรมการฝ่ายสงฆ์ร่วมปฏิบัติงานกับกรรมการฝ่ายฆราวาสของโรงพยาบาลด้วยก็จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระและช่วยให้เกิดความสะดวกเรียบร้อยขึ้น กรรมการสงฆ์ชุดแรก เรียกว่า “คณะกรรมการอำนวยความสะดวกและอนุเคราะห์พระภิกษุ-สามเณรอาพาธประจำโรงพยาบาลสงฆ์” ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จสังฆนายก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2496 (และเนื่องจากชื่อคณะกรรมการชุดนี้ยาวมาก ต่อมาจึงนิยมเรียกกันให้สั้นลงว่า “คณะกรรมการอำนายการฝ่ายสงฆ์” ทำหน้าที่ช่วยควบคุม ดูแลวางระเบียบข้อปฏิบัติและขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระภิกษุ-สามเณรอาพาธใน โรงพยาบาลสงฆ์ ทั้งช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อให้พระภิกษุ-สามเณรอาพาธ ได้รับความผาสุกและความสะดวกเท่าที่ควร กับช่วยเหลือในกิจการของโรงพยาบาลสงฆ์ ตามความจำเป็น เป็นครั้งคราว ฯลฯ กรรมการสงฆ์ชุดที่สอง ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จสังฆนายก เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2496 เรียกว่า “คณะกรรมการสงฆ์โรงพยาบาลสงฆ์” ทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติงานประจำวันที่โรงพยาบาลสงฆ์ วันละ 1 องค์ เพื่อแก้ปัญหาและวินิจฉัยให้ความเห็นแก่โรงพยาบาลด้วยเรื่องพระภิกษุ-สามเณรอาพาธ และช่วย อนุเคราะห์พระภิกษุ-สามเณรอาพาธให้ได้รับความผาสุก สะดวกเท่าที่ควร รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ที่ทาง โรงพยาบาลขอร้องให้ช่วยปฏิบัติเป็นครั้งคราว ฯลฯ จากการที่พระภิกษุ-สามเณร มีกิจวัตรปฏิบัติแตกต่างกับฆราวาส เนื่องจากต้องประพฤติตามหลักแห่งพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต ในสมัยก่อนเมื่อพระภิกษุ-สามเณร อาพาธ และจำต้องอยู่รับการบำบัดในโรงพยาบาล ซึ่งสมัยนั้นสถานพยาบาลมิได้แยกไว้สำหรับสงฆ์โดยเฉพาะ ย่อมเป็นการไม่เหมาะสมในทางพระวินัย ที่พระสงฆ์และฆราวาสจะร่วมสถานพยาบาลแหล่งเดียวกันถึงแม้ว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้พยายามที่จะจัดสถานที่พิเศษสำหรับพระภิกษุ-สามเณรแล้วก็ตาม แต่สถานที่นั้น ๆ ก็มีจำนวนจำกัดและจำนวนผู้ป่วยเจ็บไข้ก็เพิ่มมาขึ้นเป็นลำดับ จึงเป็นเหตุให้พระภิกษุ-สามเณรจำต้องปะปนกับฆราวาสอยู่เสมอ ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้เกิดวัตถุประสงค์ของการตั้งโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นมา 3 ประการคือ
1. เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่เหมาะสมในการที่พระภิกษุ-สามเณรจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลร่วมกับฆราวาส
2. เพื่อช่วยเหลือพระภิกษุ-สามเณรอาพาธให้ได้มีโอกาสปฏิบัติตามวินัยบรมพุทธานุญาต
3. สนองพุทธพจน์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า“โย ภิขเวมํ อุปฏฐ เหยย โสคิลานํ อุปฏ.ฐเหยย” ซึ่งแปลว่า “ผู้ใดปรารถนาอุปัฏฐากเราตถาคตผู้นั้นพึงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด”
หน้าที่ความรับผิดชอบของโรงพยาบาลสงฆ์
1. ดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัยทางการแพทย์ ด้านโรคทั่วไป และจักษุวิทยาแก่พระภิกษุ-สามเณร
2. ดำเนินการเกี่ยวกับการให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่แพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน เพื่อให้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาที่รับผิดชอบ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
3. ให้บริการตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อพัฒนาวิชาการแพทย์ด้านโรคทั่วไปและจักษุวิทยาแก่พระภิกษุ-สามเณร
4. ปฏิบัติงานหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย

อาคารหอฉันโรงพยาบาลสงฆ์

ประวัติอาคารหอฉัน
 อาคารหลังนี้เป็นอาคาร ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๒๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๘ โดยสมเด็จพระสังฆราช ทรงเสด็จวางศิลาฤกษ์ วัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความ สะดวกให้กับพระสงฆ์สามเณรอาพาธที่มารับบริการตรวจรักษา รับยาแล้วเกรงว่าจะไม่ได้รับความสะดวกในการ หาภัตตาหารฉันระหว่างการเดินทางกลับวัด รวมทั้งเป็นที่จัดเตรียมอาหารพระภิกษุสามเณรและให้บริการสาธุชน ทั่วไปในการประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ ที่ชั้นล่างและชั้นบนใช้เป็นห้องประชุม ซึ่งจุผู้ฟังได้ประมาณ ๕๐๐ คน เพื่อ เผยแพร่ความรู้ด้านสุขศึกษา ศีลธรรม วิทยาการทางการแพทย์และสาขาอื่น ๆ อาคารหลังนี้ใช้เงินในการก่อสร้าง ประกอบด้วยเงินสลากกินแบ่ง ๒๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สองแสนห้าหมื่นบาท) เงินผ้าป่าสามัคคี ๕๐๒,๔๐๐.๐๐บาท (ห้าแสนสองพันสี่ร้อยบาทถ้วน) เงินบำรุง ๑,๐๔๘,๐๐๐.๐๐บาท (หนึ่งล้านสี่หมื่นแปดพันบาทถ้วน) รวมมูลค่า ก่อสร้างอาคาร เป็นเงิน ทั้งสิ้น ๑,๘๐๐,๔๐๐.๐๐บาท (หนึ่งล้านแปดแสนสี่ร้อยบาทถ้วน)

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโรงพยาบาลสงฆ์

พระพุทธสัมปทานนิโรคาพาธ
 พระพุทธสัมปทานนิโรคาพาธ ในวิหารโรงพยาบาลสงฆ์ ประวัติ พระพุทธปฏิมากรอันศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของสมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิต และพระองค์ท่านได้ประทานไว้เป็นสมบัติแด่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ต่อมาเมื่อ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๗๕ ได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐาน ไว้ ณ พระวิหารทิศวัดเบญจมบพิตร ครั้นถึงวาระอันเป็นมหามงคล คือเมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๖ เวลา ๐๙.๐๐ น.คณะกรรมการจัด สร้างโรงพยาบาลสงฆ์ได้ทำการก่อสร้างวิหารในโรงพยาบาลสงฆ์แล้วเสร็จ จึงได้ขออนุญาตต่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร (ครั้งยังทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัตสังฆปรินายก) และกรมศิลปากร ขอพระราชทานพระพุทธปฏิมากร ที่ประดิษฐานในวิหารทิศรอบ ๆ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ซึ่งก็ประทานอนุญาต จึงได้จัดพิธีแห่ อย่างมโหฬาร อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรอันศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทั้งกิ่งต้น พระศรีมหาโพธิ์จากต้นเดิมที่พุทธคยาจากวัดเบญจมบพิตร มายัง โรงพยาบาลสงฆ์ แล้วอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรองค์นี้ประดิษฐาน เป็นพระพุทธประธานในวิหาร ทางฝ่ายคณะสงฆ์มีสมเด็จพระวันรัต สังฆนายก แทนสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ส่วนในด้านคฤหัสถ์ก็มี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อัญเชิญมาประดิษฐานในวิหาร โรงพยาบาลสงฆ์ พระพุทธปฏิมากรองค์นี้ เป็นปางสมาธิราบ มีส่วนสูงตั้งแต่ปลายพระเกตุมาจรดส่วนล่างของพระอาสน วัดได้ ๑๒๓ ซม. และหน้าตักวัดจากหัวพระชานุทั้งสองได้ ๗๕ ซม. สร้างโดยช่างสกุลเชียงแสนยุคแรก ในราว พุทธศตวรรษที่ ๑๖ มีอายุเกือบ ๙๐๐ ปี มีพระเกตุมาลาเป็นตุ้มลักษณะคล้ายดอกบัวตูม หรือเรียก “เกศตุ้ม” เม็ดพระศกเป็นปมขมวดหรือหย่อมขนาดเขื่อง กรอบพระพักตร์ป้อมสั้นรายละเอียด เช่น พระขนง พระเนตร พระนาสิกและพระโอษฐ์ยังปรากฏเค้าลักษณะพระพุทธรูปอินเดีย สกุลปาละ อันเป็นแม่แบบอยู่พร้อมมูล พระอุระ อวบ นูน และพระกฤษฎีกลมกลึง พระอุทรผายเล็กน้อย ช่วงพระอังสากว้าง พระสังฆาฏิสั้น ปลายอยู่เหนือแนวพระถัน และเป็นง่ามหางแซงแซว การที่มีพระสังฆาฏิสั้นเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญประการหนึ่งของพระพุทธรูปสกุล ช่างเชียงแสนยุคแรก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สิงห์หนึ่ง”ส่วนลำพระพาหานั้น มีสัณฐานอวบใหญ่ พระหัตถ์ และนิ้วพระหัตถ์อ่อนสวยดุจมีชีวิต ปลายนิ้วพระหัตถ์งอน ซึ่งเรียกว่า “เล่นพระหัตถ์” พระบาททั้งสองมีลักษณะหัก วาดไปตามลีลาของสัดส่วนที่เรียกว่า “เล่นพระบาท” พระอาสนะประกอบไปด้วย “บัวเล็บช้าง” และประดับด้วย “ลายตุ่มเมล็ดบัว” และลายเส้นดิ่งโดยรอบ วรรณะ ขององค์พระปฏิมากร มีสีนํ้าตาลคลํ้า แทนที่จะดำสนิท สันนิษฐานได้ว่าคงจะมีการขัดผิวพระกันในสมัยก่อน (ก่อนรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๕๐) นิยมการขัดผิวพระให้สุกปลั่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ยึดหลักทางโบราณคดี นามของพระพุทธปฏิมากร คือ “พระพุทธสัมปทานนิโรคาพาธ” มีความหมายว่า “พระพุทธองค์ผู้ทรง บันดาลให้ซึ่งความปราศจากโรคาพยาธิทั้งปวง”

บรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์

บรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์
  ประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอชีวกโกมารภัจจ์ (อ่านว่า ชี-วะ-กะ-โก-มา-ระ-พัด) บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ (แพทย์แผนไทย) เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เรื่องราวชีวิตของท่านมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ อรรถกถา ตลอดชีวิตของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้โดยไม่เลือกฐานะ จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งปวงในทาง “เป็นที่รักของปวงชน” หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของนางสาลวดี โสเภณีประจำเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในสมัยนั้นตำแหน่งนี้ มีเกียรติยศต่างจากในสมัยนี้ นางสาลวดีตั้งครรภ์โดยบังเอิญ เมื่อคลอดบุตรชายออกมาจึงสั่งให้สาวใช้นำไปทิ้ง ที่กองขยะ แต่อภัยราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูไปพบเข้า จึงนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมชื่อ ชีวก ตั้งขึ้นตามคำกราบทูลตอบคำถามของพระองค์ที่ตรัสถามมหาดเล็กว่า เด็กยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า มหาดเล็ก กราบทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชี-วะ-โก) ส่วนคำว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู หรือ กุมารในราชสำนัก หมายถึง บุตรบุญธรรม นั่นเอง ฉะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ จึงหมายถึง บุตรบุญธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง เมื่อเติบโตขึ้นชีวกถูกพวกเด็ก ๆ ในวังล้อเลียนว่า เจ้าลูกไม่มีพ่อ ด้วยความมานะ จึงหนีพระบิดาไปเรียน ศิลปวิทยาที่เมืองตักสิลาเพื่อเอาชนะคำดูหมิ่น วิชาที่เลือกเรียนคือวิชาแพทย์ แต่เนื่องจากไม่มีค่าเล่าเรียน จึงอาสารับใช้พระอาจารย์ เรียนอยู่ถึง ๗ ปี จึงลาอาจารย์กลับบ้าน แต่ก่อนกลับพระอาจารย์ให้ไปหาต้นไม้ที่ใช้ ทำยาไม่ได้ ให้เก็บตัวอย่างมาให้ดู ปรากฏว่ากลับมามือเปล่า เพราะต้นไม้ทุกต้นใช้ทำยาได้ อาจารย์บอกว่าเขาได้ เรียนจบแล้ว จึงอนุญาตให้กลับได้ หลังจากกลับเมืองมาแล้ว ได้รักษาพระเจ้าพิมพิสารให้หายขาดจากภคันทลาพาธ (โรคริดสีดวงทวาร) และได้รับ การแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง และได้รับพระราชทานสวนมะม่วง แต่ต่อมาหมอชีวก ก็ได้ถวายสวนนี้ให้พระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย และได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์อีกด้วย ด้วยความที่เป็นคนบำเพ็ญแต่สิ่งที่ดีงาม ชว่ ยเหลือผเู้ จ็บปว่ ย ไมเ่ ลือกฐานะ จึงไดรั้บการยกยอ่ งจากพระพุทธเจา้ วา่ เปน็ เอตทัคคะ ในดา้ น เปน็ ที่รักของปวงชน ในวงการแพทย์แผนโบราณในปัจจุบันนี้ ถือว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็น บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป

ศาลพระภูมิเจ้าที่

ศาลพระภูมิเจ้าที่
  ความเป็นมา ศาลพระภูมิเจ้าที่โรงพยาบาลสงฆ์ เป็นสถานที่ที่เหล่าข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสงฆ์และบุคคลทั่วไป นิยมสักการะกราบไหว้ เพื่อความสุขสงบทางใจ คราวที่มีเรื่องให้ต้องทุกข์ และอยู่คู่โรงพยาบาลสงฆ์มาเป็นเวลานาน ซึ่งพอจะสืบค้นจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของคนรุ่นเก่าว่า เมื่อครั้งนายแพทย์สมพงษ์ ศิริภักดี เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาล ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ - ๒๕๑๔ เป็นผู้ดำริให้สร้างขึ้น โดยมีนายประยูร วงษ์ผดุง เพื่อนนายประเสริฐ เกตุจินดา ศิษย์เอกพลเรือตรีหลวงสุวิชาญแพทย์ รน. กองการแพทย์ทหารเรือ เป็นเจ้าพิธีในการตั้งศาล (ข้อมูลจาก คุณสุรพจน์ มณีสุวรรณ อดีตข้าราชการโรงพยาบาลสงฆ์) และปรับปรุงครั้งที่ ๒ เมื่อครั้งที่นายแพทย์บำรุง ศรีเปล่ง เป็นผู้อำนวยการ ประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ เหตุเนื่องจากเรือนศาลเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก คุณพูล อาจสุวรรณ รองผู้อำนวยการ ได้รับมอบหมายให้ทำการปรับปรุง โดยใช้เสาเรือนเก่าที่ตั้งศาลเดิมเป็นฐาน และสั่งเรือนหลังใหม่ จากเรือนเดี่ยว เป็นเรือน ๓ หลัง ทำด้วยไม้สักจากจังหวัดลำปางมาตั้งใหม่ โดยมีพระสงฆ์ รวม ๔ รูป จากวัดราชนัดดาราม เป็นเจ้าพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระชัยมงคลสถิต ณ ศาลหลังใหม่นั้นและได้ทำการปรับปรุงอีกครั้ง ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ เพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ดีงามของบรรพชนในการสักการะ กราบไหว้สิ่งที่เป็นมงคล และเหล่าเทพยดาผู้ปกปักษ์ รักษาบ้านรักษาเรือน ให้ผู้อยู่อาศัยอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคาพยาธิและภัยพิบัติทั้งปวง และเพื่อ ความเป็นสิริมงคลเจริญรุ่งเรือง ทรัพย์พูนผลทวี โดยมีนายแพทย์สมเกียรติ เกษมธรรมคุณ และคณะ เป็นผู้ดำเนินการ ปรับปรุง ซึ่งได้มีมติให้จัดทำศาลพระภูมิหลังใหม่เป็นเรือนไทยแฝด ๓ หลังคา ขนาด ๑๖๕.๕ x ๑๘๕.๙ ซม. (ซึ่งมีความหมายแสดงถึงรุ่งเรือง - ทวีเพิ่ม) เสาไม้สัก ขนาด ๓๐ x ๑๘๐ เซนติเมตร และโต๊ะไม้สักแกะสลัก ขนาด ๗๐ x ๑๐๐ เซนติเมตร โดยกำหนดเวลารื้อถอนศาลเก่าและตั้งศาลใหม่ โดยใช้ไม้มงคล ๙ ชนิด เช่น กันเกรา คูณ ชัยพฤกษ์ ไผ่สีสุก ทองหลาง ขนุน สัก พยุง มะยมหอม แผ่นทอง เงิน นาค และพลอยนพเก้าบรรจุไว้ที่ฐานราก พิธีจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๙ น. และทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระชัยมงคล สถิตเป็นมิ่งขวัญ ณ ศาลหลังใหม่ เมื่อวันพุธที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๙ น.โดยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสงฆ์ แพทย์หญิงวราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ และเหล่าข้าราชการ เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงาน เป็นจำนวนมาก นอกจากการบวงสรวงศาลพระภูมิเจ้าที่แล้ว ในครั้งนั้นยังจัดให้มีพิธีไหว้พระพิฆเนศวร์ เจ้าแม่กวนอิม และทำพิธีทิ้งกระจาดอาหารคาวหวานและอื่น ๆ อีกโดยอาจารย์ลักษณ์ (อ.สมชัย จรุงพรสวัสดิ์) เป็นเจ้าพิธี งบประมาณที่ใช้ในการนั้น ได้รับบริจาคจากข้าราชการเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสงฆ์ และผู้มีจิตศรัทธา เพื่อสร้างความสุข สงบ ร่มเย็นของชาวโรงพยาบาลสงฆ์ทุกท่าน

ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์
  ความเป็นมา เมื่อคณะกรรมการโรงพยาบาลสงฆ์ได้ทำการก่อสร้างวิหารในโรงพยาบาลสงฆ์แล้วเสร็จ จึงได้ขออนุญาตต่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจมบพิตร (ครั้งยังทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต สังฆปรินายก) และกรมศิลปากรขอพระราชทานพระพุทธปฏิมากร ที่ประดิษฐานในวิหารทิศรอบ ๆ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ซึ่งก็ประทานอนุญาต จึงได้จัดพิธีอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรอันศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทั้งกิ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์จากต้นเดิมที่พระพุทธคยาจากวัดเบญจมบพิตร มายังโรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. แล้วอัญเชิญพระพุทธองค์นี้ประดิษฐานเป็นพระพุทธประทานในวิหาร และได้ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ลง ณ สถานที่หลังวิหารในวันนั้น

TEKSAS